วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2552

จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

เมื่อผลงานนวนิยาย "ตุ๊กตาไล่ฝน" เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมสาขาวรรณกรรมไทยจากเวที Young Thai Artist Award 2006 ของศักดา สาแก้ว บัณฑิตคณะวิทยาการสารสนเทศ สาขาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำเร็จเสร็จสิ้น ได้รับการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มสวยงาม อาจเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จขั้นต้นของคนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่ตั้งต้นชีวิตวัยเยาว์ในพื้นที่ชนบทอย่างจังหวัดสุรินทร์พร้อมด้วยครอบครัวที่แตกร้าว แต่เขากลับเติบโตขึ้นพร้อมความมุ่งมั่นที่จะหาทางเดินชีวิตที่เหมาะสมของตัวเอง ในวันนี้ การเป็นนักเขียนนิยายเยาวชนอาจเป็นเส้นทางเดียวที่เขาเลือก เพื่อแลกกับการต่อสู้ เพื่อความอยู่รอดในอนาคตก็เป็นได้ "สมัยเรียนมัธยม ผมชอบส่งผลงานเข้าประกวดเรียงความ คำขวัญต่าง ๆ ของโรงเรียน ส่วนหนึ่งเพราะอยากได้ใบประกาศนียบัตรมาติดที่บ้าน แต่มาสนใจงานเขียนหนังสือจริง ๆ จัง ๆ ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย" " ตอนนั้นได้เรียนวิชาวิเคราะห์สื่อ ต้องอ่านหนังสือหลายเล่ม เรื่องที่ประทับใจคือ คำพิพากษา รู้สึกว่าเป็นงานเขียนที่ดี อ่านแล้วทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจ อยากเขียนให้ได้ดีแบบเขา และทำให้สนใจในงานเขียนประเภทเรื่องเศร้า สะท้อนปัญหาสังคม หรือแนวชีวิตรันทดมากขึ้น" ศักดาบอกว่า สาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เขาเลือกเขียนนิยายสะท้อนปัญหาครอบครัว อาจเป็นเพราะว่าเขาเองก็ต้องพบเจอกับความแตกร้าวของทางบ้านมาตั้งแต่เด็ก "ผมชอบเขียนเรื่องราวของสังคมถ่ายทอดผ่านตัวละครหลักที่เป็นเด็ก เพราะเด็กมีเสน่ห์น่าสนใจในแง่ของความไร้เดียงสา ซึ่งเมื่อมารวมกับความถนัดที่ชอบเขียนเรื่องเศร้า ๆ ก็เลยรวมออกมาเป็นงานเขียนที่เกี่ยวกับครอบครัว ส่วนมากเป็นการนำเสนอความรู้สึกของลูกที่ถูกทิ้ง หรือการใช้เด็กที่มีลักษณะพิเศษ เช่น เด็กที่เป็นโปลิโอ เด็กผิวดำ มาเป็นตัวละครหลักในการเดินเรื่อง" ผลงานชิ้นแรกของศักดาคือ "แม่จ๋าน้องร้องไห้อีกแล้ว" เขียนเมื่อเรียนชั้นปีที่สอง และได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารของสาขาวิชา ต่อมาเขาได้นำงานชิ้นนี้กลับมาขยายความเพิ่ม และส่งเข้าประกวดในเวทีที่ใหญ่ขึ้นอย่าง Young Thai Artist Award จนสามารถคว้ารางวัลมาครองได้ในที่สุด "ช่วงนั้น เรียนจบมาก็พยายามหางานทำแต่หาไม่ได้ พอดีเห็นประกวดก็เลยนำงานเขียนเรื่อง แม่จ๋าน้องร้องไห้อีกแล้ว มาขยายความ เพราะผมรู้สึกว่า งานชิ้นนั้นผมยังเขียนได้ไม่ค่อยสละสลวย ผนวกกับความเสียดาย อยากเขียนให้ยาวกว่านี้ เพราะคิดว่ายังมีเรื่องที่น่าจะเพิ่มเติมได้อีก ก็เลยนำมาปรับปรุงใหม่ และส่งเข้าประกวด จนได้รับรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมในที่สุด" เมื่องานชิ้นแรกได้รับการยอมรับจากเวทีประกวด ส่งผลให้เขามีความมั่นใจมากขึ้น และสามารถผลิตงานออกมาได้อีก 3 ชิ้น โดยงานของเขาในวันนี้มีมุมมองที่แตกต่างออกไป "ก่อนหน้านี้ มักจะหยิบเรื่องใกล้ตัวมาเขียน บวกกับจินตนาการของตัวเอง แต่งานชิ้นต่อมา ตั้งใจไว้แล้วว่าจะหาข้อมูลเพิ่มเติมให้มากขึ้น เช่น ค้นหาจากอินเทอร์เน็ต ซีดี หนังสือต่าง ๆ เพื่อให้เนื้อเรื่องมีความสมจริง ซึ่งผมมองว่าเป็นการพัฒนาตัวเองด้วยทางหนึ่ง ไม่ใช่ว่าได้รางวัลแล้วก็หยุด ไม่พัฒนาตัวเองต่อ ผมว่ามันเป็นการฝึกการทำงานของเราให้ยากขึ้น เพื่อให้คนอ่านได้อ่านง่ายขึ้นครับ" เสน่ห์ของนิยายที่ศักดาชื่นชอบยังอิงกับพล็อต และการดำเนินเรื่องด้วย ซึ่งการฝึกเขียนงานในลักษณะนี้ ศักดาบอกว่า ศึกษาจากการดูภาพยนตร์ หรืออ่านหนังสือ แล้วนำมาปรับใช้กับงานของตัวเอง "จากความรู้สึก ผมชอบเขียนงานในโทนเศร้าอยู่แล้ว มันเป็นสไตล์งานที่ขึ้นอยู่กับความชอบ ความถนัดส่วนบุคคล นอกจากนั้นผมยังชอบเรื่องหักมุม หรือก็คือการเล่าเรื่องที่ไม่ได้บอกหมดทุกอย่างในตอนต้น แต่นำไปเฉลยทีหลัง" "กับเส้นทางของการเป็นนักเขียน ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี และเราก็ชอบงานนี้ด้วย เวลาเขียนรู้สึกมีความสุขที่ได้ใช้จินตนาการกำหนดเรื่อง กำหนดตัวละครให้มันเดินไปตามที่เราวางพล็อตเอาไว้ แต่ถ้าจะให้เรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนคงยังเรียกได้ไม่เต็มปาก เพราะว่าต้องพัฒนาฝีมืออีกมาก รวมถึงจะพยายามเพลา ๆ เรื่องความรุนแรงในเนื้อหาลง จะใส่ความสดใสเข้าไปให้มากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมสำหรับเยาวชนครับ" เส้นทางชีวิตหลังจากนี้ ศักดาบอกว่า ""คิดว่าการหาอะไรทำที่บ้านเกิดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดครับ ตอนนี้ก็มีร้านเครื่องเขียนเล็ก ๆ อยู่ในอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ นอกเหนือจากขายของที่ร้านแล้ว เวลาว่างก็นั่งเขียนหนังสือไปด้วย เหตุผลที่ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน เพราะว่าครอบครัวตอนนี้เหลือแค่แม่กับย่าแค่สองคน อาจฟังดูแปลกที่ครอบครัวผมเหลือแค่แม่กับย่า ตอนที่พ่อกับแม่เลิกกัน แม่ผมเป็นคนดูแลย่า คุณย่าท่านเป็นนักอ่าน และชอบเขียนกลอนอีสาน ตอนที่ปู่เสีย ย่าก็เขียนกลอนถึงปู่ว่า พอปู่เสียแล้วเหมือนลูก ๆ ทุกคนจะลืมว่ายังเหลือย่าอยู่อีกคน ไม่เคยมีใครแวะมาเยี่ยมย่าเลย ซึ่งผมอ่านแล้วรู้สึกว่าเศร้ามาก" "ตอนนี้ทั้งแม่กับย่าผมก็อายุมากแล้ว ถ้าผมไปทำงานในกรุงเทพฯ ก็จะไม่มีใครดูแลท่าน ผมเลยเลือกกลับมาอยู่กับท่านที่สุรินทร์ดีกว่า ซึ่ง เพื่อนบ้านหลายคนก็บอกผมเหมือนกันว่า ตั้งแต่ผมกลับมาเปิดร้านอยู่ที่สุรินทร์ ดูแม่ผมมีความสุขขึ้นมาก" "ทุกวันนี้ก็ทำ เพื่อแม่ครับ เพราะแม่ทำ เพื่อผมมาหลายอย่างตั้งแต่เล็กจนโต ตอนที่หนังสือสำเร็จเป็นรูปเล่ม ได้วางขายบนแผงหนังสือ คนดีใจที่สุดก็คือแม่ผม ถึงแม้ท่านจะจบแค่ ป.4 อ่านหนังสือไม่ได้มากนัก แต่แม่ก็จะเปิดอ่านอยู่ตลอด บางคำแม่ไม่รู้ก็จะมาถามว่า คำนี้มันคืออะไร ทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้ได้ว่าแม่ดีใจกับความสำเร็จของเราในครั้งนี้มากแค่ไหน ซึ่งนอกจากเราจะได้มีความสุขกับงานเขียนแล้ว ยังทำให้แม่มีความสุขด้วย ก็ถือว่าประสบความสำเร็จครับ"